ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครนายก กลุ่มภาคตะวันออก 2
Regional Academic Resource and Community Engagement Center - Nakhon Nayok (Eastern Provincial Cluster 2)

ความเป็นมา

        มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดตั้งศูนย์วิทยพัฒนา 10 แห่ง ขึ้นในภูมิภาคเพื่อเป็นเสมือนตัวแทนของมหาวิทยาลัย ในการให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป แต่ละแห่ง รองรับการให้บริการครอบคลุมพื้นที่  5 – 10 จังหวัด    โดยเริ่มตั้งแต่  ปี พ.ศ. 2534 เปิดให้บริการแห่งแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 2540 เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี นครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุโขทัย ปี พ.ศ. 2541 เปิดให้บริการที่จังหวัดอุดรธานี ลำปาง ปี พ.ศ.2542 เปิดให้บริการที่จังหวัดจันทบุรี ยะลา ปี พ.ศ.2543 เปิดให้บริการที่จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นแห่งที่ 10    

        ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. นครนายก สถานที่ตั้งคือ เลขที่ 196 หมู่ 5 ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บนเนื้อที่ 30 ไร่ 25.5 ตารางวา  เดิมชื่อ “ศูนย์วิทยพัฒนาบริการ มสธ.จังหวัดนครนายก ” ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น   ” ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ.นครนายก ”  และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2564 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ” ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครนายก”          

          โดยมีภารกิจในการ ให้บริการห้องสมุดและสื่อการศึกษา บริการแนะแนวการศึกษา บริการงานทะเบียนนักศึกษา บริการจำหน่ายใบสมัคร และรับนักศึกษาใหม่ บริการห้องประชุมในกิจกรรมการเรียนการสอน บริการห้องคอมพิวเตอร์ในการจัด การสอบตามความพร้อมของนักศึกษารายบุคคล(Walk in-exam) ทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษ(STOU-EPT) บริการให้เช่าห้องคอมพิวเตอร์สำหรับการอบรม และบริการให้เช่าห้องประชุมแก่บุคลากรภายนอกเพื่อจัดประชุมต่าง ๆ โดยมีจังหวัดที่อยู่  ในความรับผิดชอบการให้บริการ จำนวน 4 จังหวัด คือ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและสระบุรี

            ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ จังหวัดนครนายก แบ่งส่วนการบริหารงานออกเป็น 3 งาน คือ 
      1.งานอำนวยการและบริหารงานทั่วไป 
      2.งานประสานเครือข่ายและชุมชนท้องถิ่น 
      3.งานบริการสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา 
      โดยมีผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ เป็นผู้รับมอบนโยบายจาก รองอธิการบดี ที่อธิการบดีมอบหมายให้กำกับดูแล ซึ่งปัจุบันอยู่ในการกำกับดูแล    ของรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ปณิธาน

       มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป เพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาต่อสำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา เพื่อสนองตอบความต้องการของบุคคลและสังคม ด้วยการจัดระบบการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิธีการอื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ

วิสัยทัศน์ (Vision)

มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านบริการการศึกษา และพัฒนาเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

พันธกิจ (Mission)

  1. บริการการศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชน
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของ มสธ.
  3. สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการให้บริการการศึกษาทางไกล
  4. อนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสนับสนุนและรองรับกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอบรมและงานบริการการศึกษาในระบบการสอนทางไกล
  2. เพื่อเป็นตัวแทนในการให้บริการสื่อการศึกษาและเทคโนโลยีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
  3. เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค
  4. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักศึกษา ชมรมบัณฑิต สมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช และองค์กรอื่นที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย
  5. เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย